Skip to content
ความรู้และสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ยา และโรค

ความรู้และสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ยา และโรค

ดูหนังออนไลน์ฟรี 2019
  • หน้าหลัก
  • ยาสามัญประจำบ้าน
    • 3 คุณสมบัติ ตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • สถานที่ตั้งตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • ยาสามัญประจำบ้าน ทั้ง 16 กลุ่ม
  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
    • วิธีปฐมพยาบาล เมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
    • วิธีแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
  • วิธีการใช้ยา
    • วิธีใช้ยา เมื่อมีอาการน้ำมูกไหล
    • วิธีใช้ยาเมื่ออาการ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดส่วนต่างๆ
  • บทความ
  • เกี่ยวกับ
  • ติดต่อ
วิธีใช้ยา เมื่อมีอาการปวดหัว
อ่านต่อ
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
อ่านต่อ
วิธีปฐมพยาบาล
เมื่อมีอาการเมาเครื่องบิน เมารถ เมาเรือ
อ่านต่อ
วิธีใช้ยา เมื่ออาการ น้ำมูกไหล
Heading layer
อ่านต่อ
previous arrow
next arrow
Slider

ยาแก้ปวดแบบไหนที่ไม่กัดกระเพาะอาหาร?

Posted on July 22, 2020November 25, 2020 by visaza_effects

ไม่อยากกินยาแก้ปวด เพราะเป็นโรคกระเพาะ(อาหาร)อยู่” คุณลุงท่านหนึ่งเปรยขึ้น หลังจากผมแจ้งว่าอาการปวดชายโครงซ้ายของคุณลุงน่าจะเกิดจากโรคกระดูกซี่โครงอักเสบ สามารถรักษาด้วยการกินยาแก้ปวด

แกเล่าว่าเมื่อ 2-3 วันก่อนก็ไปหาหมอที่คลินิกมาแล้ว จ่ายยาแก้ปวดให้เหมือนกัน แต่คุณลุง “ไม่กล้ากิน” เพราะคิดว่ายาแก้ปวดจะกัดกระเพาะอาหาร อาการปวดเลยยังไม่หาย ใจหนึ่งแกก็กังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า ซึ่งพยาบาลได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคุณลุงไว้ให้ก่อนแล้ว ไม่พบลักษณะของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อีกใจหนึ่งคือเรื่องยาแก้ปวด ผมเลยบอกคุณลุงไปว่า “ยาแก้ปวดแบบที่ไม่กัดกระเพาะก็มีนะครับ”

คุณลุงทำสีหน้าสนใจขึ้นมาทันที

ถ้าลองค้นหาใน google จะเจอบทความที่ให้คำตอบว่ามียาแก้ปวดอยู่ 3-4 ประเภท แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งถูกต้องตามที่เรียนมาตำราเดียวกัน แต่คุณลุงคงไม่สนใจหรอกว่าเมื่อกินยาตัวใดไปแล้วจะไปออกฤทธิ์ตรงไหน ทว่าคุณลุงและผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็สนใจผลข้างเคียงของยา เช่น “ยาจะกัดกระเพาะหรือไม่” “กินแล้วไตจะวายรึเปล่า” “ถ้ากินมากจะ(เสพ)ติดมั้ย” มากกว่า ผมเลยเล่าให้คุณลุงฟังต่อว่า “ถ้าจะแบ่งยาแก้ปวดตามความเชื่อของคนไข้ ผมก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินแล้วไม่กัดกระเพาะทุกคนกินได้ คนสูงอายุกินแล้วปลอดภัย กับอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่กินแล้วกัดกระเพาะซึ่งนอกจากจะระคายเคืองกระเพาะแล้ว ก็ยังอาจกัดไต ทำให้ไตวายได้อีก”

กลุ่มที่กินแล้วไม่กัดกระเพาะอาหาร

ได้แก่ ยาพาราเซตามอล และยากลุ่มมอร์ฟีน

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)” ส่วนเวลาถามคนไข้ว่า “มียาพารากินอยู่แล้วรึยัง” ผมมักจะเจอคำตอบกึ่งประโยคคำถามกลับทำนองว่า “ที่บ้านมีไทลินอล (Tylenol)/ซาร่า (Sara) กินได้มั้ยคะ” ซึ่งชื่อยาที่พูดมาก็คือชื่อการค้าของยาพาราเซตามอลนั่นเอง สำหรับผมแล้วไม่ว่าจะยาพาราเซตามอลยี่ห้อไหนก็สามารถใช้รักษาอาการปวดและลดไข้ได้ทั้งนั้น เพราะก่อนที่บริษัทจะผลิตยาเลียนแบบออกมาจำหน่ายก็ต้องมีการทดสอบชีวสมมูลของยา (Bioequivalence) ว่ามีความใกล้เคียงกับยาต้นแบบเรียบร้อยแล้ว

นอกจากจะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่บางคนซื้อไว้เป็นกระปุกใหญ่ติดไว้ที่บ้านแล้ว ยาพาราเซตามอลยังเป็นยาสามัญประจำถุงยาที่หมอจ่ายให้ด้วย เนื่องจากเป็นยารักษาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางที่มีความปลอดภัยมากที่สุด

บันได 3 ขั้นสำหรับรักษาความเจ็บปวด (ดัดแปลงจาก: แนวทางพัฒนาการระงับปวดเฉียบพลัน, สมาคมศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย)

และในแผนบันได 3 ขั้นในการรักษาความเจ็บปวดขององค์การอนามัยโลก (WHO’s analgesic ladder) ก็แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลเป็นบันไดขั้นแรก ในขนาดที่ถูกต้อง คือครั้งละ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่เกินวันละ 4 กรัม เพราะฉะนั้นขนาดสูงสุดในผู้ใหญ่คือ ครั้งละ 1 เม็ด เวลาปวดทุก 4 ชั่วโมง หรือครั้งละ 2 เม็ด เวลาปวดทุก 6 ชั่วโมง (เพราะถ้ากินครั้งละ 2 เม็ด ซ้ำทุก 4 ชั่วโมงจะทำให้ได้รับยาเกินขนาดต่อวัน สำหรับผมเอง ถ้าเป็นคนที่มีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม ผมจะแนะนำให้กินครั้งแรก 2 เม็ด หลังจากนั้นจึงกินครั้งละ 1 เม็ด)

บางคนอาจเคยได้ยินมาทำนองว่า “กินยาพาราเซตามอลเยอะจะทำให้ตับวาย” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะถึงแม้ยาจะถูกสลายที่ตับก็จริง แต่ถ้ากินในขนาดที่ผมแนะนำข้างต้นก็จะไม่เป็นพิษต่อตับแต่อย่างใด

ความเชื่อนี้อาจเกิดจากการที่เคยมีญาติเป็นคนไข้กินยาพาราเซตามอลเกินขนาดแล้วต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการตับวาย ทั้งนี้ คนไข้คนนั้นจะต้องกินยาพาราเซตามอลมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หรือเกิน 7.5 กรัม ซึ่งเท่ากับ 15 เม็ดเลยทีเดียว (คนที่ทะเลาะกับคนใกล้ชิดแล้วจะกินยาประชด รบกวนนับจำนวนเม็ดยาก่อนกินนะครับ)

ยากลุ่มมอร์ฟีน หรือทางการแพทย์จะเรียกว่า “โอปิออย (opioid)” มีที่มาจาก “opium” แปลว่า “ฝิ่น”  เป็นยาแก้ปวดในบันไดขั้นถัดมาสำหรับอาการปวดปานกลางถึงมาก แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อยตามความแรงในการออกฤทธิ์ ได้แก่ ชนิดอ่อน (weak opioid) และชนิดแรง (strong opioid)

ในที่นี่ผมจะขอแนะนำให้รู้จักกับทรามาดอล (Tramadol) เพียงตัวเดียว เพราะเป็นยากลุ่มมอร์ฟีนที่สามารถซื้อจากร้านขายยาได้ เนื่องจากมีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟีน 5-20 เท่าจึงจัดเป็นชนิดอ่อน และไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ อีกทั้งยังเป็นยาที่ผมมักจ่ายเสริมให้กับคนไข้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น โรคไตเรื้อรัง หากกินยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่หายปวด เช่น ปวดเข่า หรืออย่างกรณีคุณลุงที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น

ขนาดยาที่แนะนำคือครั้งละ 50-100 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม หรือ 200 มิลลิกรัมในคนไข้ที่มีปัญหาของตับหรือไต ดังนั้นขนาดที่ผู้ป่วยที่มักจะได้รับการสั่งจากหมอคือ ครั้งละ 1 เม็ด เวลาปวด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น รวมวันละ 150 มิลลิกรัม และเนื่องจากเป็นยาที่สามารถเสพติดได้ จึงควรหยุดใช้ให้เร็วที่สุดเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว

“กินแล้วอาเจียนตลอดเลย” ไม่แน่ใจว่าเภสัชกรได้แจ้งคนไข้ไปหรือไม่ แต่ผู้ป่วยบางคนก็สังเกตได้ด้วยตัวเองว่ายาทรามาดอลมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้อาเจียน หรืออาจท้องผูกได้ ถ้าอาการปวดเป็นเยอะก็อาจให้กินร่วมกับยาแก้คลื่นไส้อาเจียนได้ ผลข้างเคียงอื่นที่สำคัญคือกดการหายใจ (หลับแล้วตายได้)

นอกจากนี้ยาทรามาดอลก็คือยาแคปซูลสีเหลืองเขียวตัวเดียวกับที่มีข่าวในสื่อออนไลน์เป็นระยะ ถ้ามีเด็กวัยรุ่นมาโรงพยาบาลด้วยอาการชักเกร็งก็ต้องซักประวัติถึงยาตัวนี้ก่อนเลย เพราะมักจะซื้อขายกันผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้เรียกกว่า “สูตรยาโปรฯ” กินแล้วทำให้มึนเมา จึงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ จากการศึกษาย้อนหลังพบว่าผู้ป่วยที่กินยาทรามาดอลแล้วมีอาการชัก ส่วนใหญ่กินยาตัวนี้ร่วมกับสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดอื่น เช่น ยาจิตเวช ยานอนหลับ และแอลกอฮอล์

ดังนั้นจึงไม่ควรกินยาเกินขนาดที่กำหนด และห้ามนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์

กลุ่มที่กินแล้วกัดกระเพาะ

ได้แก่ ยากลุ่มเอ็นเสด และยาเถาวัลย์เปรียง (แถม)

   ยากลุ่มเอ็นเสด (NSIADs) ไม่ใช่ชื่อเล่น แต่เป็นชื่อจริงที่ย่อแล้วของยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steriodal anti-inflammatory drugs) ใช้สำหรับรักษาอาการปวดน้อยถึงปานกลาง ถ้าย้อนกลับขึ้นไปดูแผนบันได 3 ขั้นจะพบว่าอยู่ที่ขั้นแรกเดียวกับยาพาราเซตามอล แต่จะรักษาอาการปวดจากการอักเสบ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ได้ดีกว่ายาพาราเซตามอล เพราะยาจะไปยับยั้งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง ขณะเดียวกัน ด้วยกลไกนี้เองที่ยาจะไปกัดกระเพาะอาหารและไตด้วย แต่ยาจะไม่มีผลต่อไตในคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้นหากอายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคกระเพาะอาหารอย่างที่คุณลุงกลัว กินยาต้านเกล็ดเลือดหรือละลายลิ่มเลือดหรือเป็นโรคไตเรื้อรัง ก็ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้

ส่วนถ้าพูดชื่อยาในกลุ่มนี้ขึ้นมา เชื่อว่าหลายคนก็ต้องร้อง “อ๋อ” เพราะยาหลายตัวเป็นยาที่เรารู้จักกันดีและอาจเคยใช้อยู่หลายครั้ง ได้แก่

  • แอสไพริน (Aspirin) ปัจจุบันใช้เป็นยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) หรือโวลทาเรน (Voltaren) มักจะคุ้นเคยในรูปแบบยานวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือบรูเฟน (Brufen) ยาแก้ปวดเม็ดสีชมพูแปร๋น บางครั้งใช้เป็นยาลดไข้สูง
  • ไพร็อกซีแคม (Piroxicam) หรือเพียแคม (Pircam) – “เพีย” สะกดอย่างนี้นะครับ
  • เมเฟนามิค (Mefenamic acid) หรือพอนสแตน (Ponstan) ยาแก้ปวดประจำเดือน

เนื่องจากยาทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันทั้งสิ้น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะกินยาในกลุ่มนี้หลายตัวพร้อมกัน แต่ก็มีผู้ป่วยหลายคนกินยากลุ่มนี้ซ้ำซ้อนกันโดยไม่รู้ตัวจากการซื้อ “ยาชุด” ตามร้านขายของชำหรือร้านขายยาบางร้านมากินแก้ปวด เมื่อกินติดต่อกันหลายวัน ผลเสียที่ตามมาคือยากัดกระเพาะอาหารจนเป็นแผล อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดแสบร้อนท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหมือนยางมะตอย หรืออาการมากจนกระเพาะอาหารทะลุ มีอาการปวดลิ้นปี่ขึ้นมาเฉียบพลันและปวดมากอย่างไม่เคยปวดมาก่อนก็ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่โรงพยาบาล

แม้ยาแต่ละชนิดมีขนาดที่เหมาะสมเป็นมิลลิกรัมไม่เท่ากัน แต่บริษัทยาได้ปรับขนาดให้จำง่ายคือสามารถกินครั้งละ 1 เม็ด เวลาปวด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า-กลางวัน-เย็น ได้

นอกจากผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารและไตที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การใช้ยากลุ่มนี้บางตัวในขนาดสูงยังส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ไดโคลฟีแนค และไอบูโพรเฟน ในขณะที่ยานาพรอกเซน (Naproxen) กลับพบว่าไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงแต่อย่างใด* ยานาพรอกเซนจึงเป็นยาเอ็นเสดที่ปลอดภัยในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยถึงปานกลาง แต่ยังมีความเสี่ยงต่อระบบทางเดินอาหารอยู่ ก็ต้องกินคู่กับยาลดกรด เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) ด้วย

อย่างไรก็ตามมียาเอ็นเสดอยู่ตัวหนึ่งที่ไม่กัดกระเพาะอาหาร คือยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) หรือเซเลเบรค (Celebrex) จึงสามารถใช้ยานี้ได้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือแม้กระทั่งไม่มีโรคประจำตัวแต่มีเงินจ่ายค่ายาราคาแพงนี้ได้

ยาเถาวัลย์เปรียง ที่ผมวงเล็บว่า “แถม” ข้างต้นก็เนื่องจากยาตัวนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนยากลุ่มเอ็นเสด จึงนำมาใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยมีงานวิจัยศึกษาเปรียบเทียบกับยาไดโคลฟีแนคพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดหลังได้ไม่ต่างกัน

คุณลุงยอมกินยาแก้ปวด (แบบที่ไม่กัดกระเพาะอาหาร)

ความจริงแล้วความกังวลต่อยาแก้ปวดระหว่างผมกับคุณลุงไม่ต่างกัน เพราะเวลาผมเลือกใช้ยาแก้ปวดก็คำนึงถึงผลข้างเคียงเป็นสำคัญ เพียงแต่คุณลุงรู้จักยาแก้ปวดไม่ครบทุกกลุ่มเท่านั้น (ส่วนผู้ที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็น่าจะรู้จักเกือบครบแล้ว) โดยค่อยเป็นค่อยไปตามแผนบันได 3 ขั้นในการรักษาความเจ็บปวดขององค์การอนามัยโลก เริ่มจากยาพาราเซตามอลก่อน หากเป็นผู้ป่วยอายุน้อย (น้อยกว่า 65 ปี) ไม่มีโรคประจำตัวก็อาจเพิ่มยากลุ่มเอ็นเสดให้ เพราะช่วยลดอาการปวดได้มากขึ้น แต่ถ้ามีโรคประจำตัว หรือเป็นผู้สูงอายุ ก็จะเดินขึ้นบันไดเลี่ยงไปใช้ยากลุ่มมอร์ฟีนแทน

ทั้งนี้ยังมียาแก้ปวดเฉพาะระบบที่ผมยังไม่ได้พูดถึง เช่น ยาแก้ปวดระบบประสาท ยาแก้ปวดท้อง (เคยพูดถึงในบทความโรคกระเพาะอาหาร โรคที่เกิดก็เพราะอาหาร การกินยา และแผลในกระเพาะฯ แล้ว) รวมถึงการรักษาอาการปวดโดยไม่ใช่ยา เช่น การประคบร้อนและเย็น การกดจุดและการนวด และการฝังเข็มที่อาจใช้ผสมผสานกันได้

Posted in ArticleTagged ยาแก้ปวด, ยาแก้ปวดไม่กัดกระเพาะอาหาร

Post navigation

พกยาไปต่างประเทศ อย่างปลอดภัย
ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องกิน “แคลเซียม” เสริมหรือไม่?

Leave a Reply Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

dg gaming
ดูหนังใหม่ชนโรง
Copyright © 2019 via1sideffects.com ดูซีรี่ย์จีน
  • หน้าหลัก
  • ยาสามัญประจำบ้าน
    ▼
    • 3 คุณสมบัติ ตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • สถานที่ตั้งตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • ยาสามัญประจำบ้าน ทั้ง 16 กลุ่ม
  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
    ▼
    • วิธีปฐมพยาบาล เมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
    • วิธีแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
  • วิธีการใช้ยา
    ▼
    • วิธีใช้ยา เมื่อมีอาการน้ำมูกไหล
    • วิธีใช้ยาเมื่ออาการ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดส่วนต่างๆ
  • บทความ
  • เกี่ยวกับ
  • ติดต่อ