Skip to content
ความรู้และสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ยา และโรค

ความรู้และสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ยา และโรค

ดูหนังออนไลน์ฟรี 2019
  • หน้าหลัก
  • ยาสามัญประจำบ้าน
    • 3 คุณสมบัติ ตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • สถานที่ตั้งตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • ยาสามัญประจำบ้าน ทั้ง 16 กลุ่ม
  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
    • วิธีปฐมพยาบาล เมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
    • วิธีแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
  • วิธีการใช้ยา
    • วิธีใช้ยา เมื่อมีอาการน้ำมูกไหล
    • วิธีใช้ยาเมื่ออาการ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดส่วนต่างๆ
  • บทความ
  • เกี่ยวกับ
  • ติดต่อ
วิธีใช้ยา เมื่อมีอาการปวดหัว
อ่านต่อ
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
อ่านต่อ
วิธีปฐมพยาบาล
เมื่อมีอาการเมาเครื่องบิน เมารถ เมาเรือ
อ่านต่อ
วิธีใช้ยา เมื่ออาการ น้ำมูกไหล
Heading layer
อ่านต่อ
previous arrow
next arrow
Slider

‘พาราเซตามอล’ ยาสามัญที่ไม่ธรรมดา

Posted on July 15, 2020July 15, 2020 by visaza_effects

ก่อนส่งท้ายสิ้นปี กรมอุตุฯ รายงานสภาพภูมิอากาศที่ลดฮวบอย่างกะทันหันในพื้นที่ประเทศไทยตอนบน ทั้งภาคเหนือ อีสาน ไล่มาจนถึงภาคกลาง พร้อมกันนี้ก็มีเสียงเตือนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขให้ประชาชนหมั่นดูแลรักษาสุขภาพจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงนี้ เพราะไข้หวัดอาจถามหาได้

เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคือ ‘ยาพาราเซตามอล’ ยาสามัญที่มีกันทุกบ้าน เพราะซื้อง่าย ใช้คล่อง เป็นไข้ตัวร้อนก็แวะซื้อหามารับประทานเองได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป จะซื้อเก็บไว้กี่แผงก็ไม่ผิดกติกา แต่ยาสามัญธรรมดาๆ อย่างนี้ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ยา’ ย่อมต้องใช้อย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจส่งผลร้ายกลายเป็นโทษได้

สรรพคุณทั่วไปของยาพาราเซตามอลคือ ลดไข้และบรรเทาปวด ไม่ว่าจะเป็นปวดข้อ ปวดขา ปวดฟัน ปวดประจำเดือน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเป็นยาบรรเทาเท่านั้น ไม่ใช่ยารักษาโรค ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป หรือหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วันสำหรับโรคทั่วไป ควรหยุดยาแล้วรีบไปปรึกษาแพทย์จะเป็นการดีที่สุด หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาเป็นเวลานานก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า กฎสำคัญของการใช้ยาพาราเซตามอลที่ควรจดจำไว้ให้แม่นคือ ห้ามใช้ยาเกินขนาด หากใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม ยานี้จัดว่าเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีทีเดียว ดังนั้นก่อนใช้ยาทุกชนิดและทุกครั้งไม่ควรลืมกฎเหล็กนี้ ข้อที่ 1 คือ อย่าถามเพียงว่ายานี้ให้ประโยชน์อะไรกับเรา แต่ต้องถามข้อที่ 2 เสมอว่า หากใช้ยานี้แล้วจะมีอันตรายอย่างไรบ้าง

“เราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับกับอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยพิจารณาจากกฎทั้ง 2 ข้อนี้ควบคู่กันไป อย่าคิดว่ายาเป็นขนม อย่าคิดว่ายาเป็นสิ่งที่เรารู้จักมันดี เพราะจริงๆ แล้วเราอาจไม่รู้จักมันเลย แม้จะเป็นยาที่ใช้บ่อยก็ตาม”

อีกข้อหนึ่งที่ควรคำนึงคือ ในเเมื่อเรายังไม่รู้จักยาชนิดนั้นจริง ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะแนะนำยาชนิดนั้นให้คนอื่นใช้ด้วย เพราะเท่ากับเป็นการแนะนำในสิ่งที่ตนเองก็ยังไม่รู้จริง

paracetamol-3

‘ขนาด’ ใครว่าไม่สำคัญ

สำหรับคนส่วนใหญ่อาจพอทราบกันว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลสำหรับผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ตามที่ฉลากยาระบุไว้ แต่ข้อห้ามที่พึงทราบไว้ด้วยก็คือ 1.ห้ามรับประทานเกินกว่า 4,000 มิลลิกรัม (8 เม็ด) ต่อวัน ซึ่งยาพาราเซตามอลชนิดเม็ดส่วนใหญ่จะมีขนาด 500 มิลลิกรัม 2.ในแต่ละครั้ง ห้ามรับประทานเกิน 1,000 มิลลิกรัม (2 เม็ด) โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว กลับเป็นการเพิ่มอันตรายด้วย และ 3.อย่ารับประทานบ่อย ภายในช่วงเวลาที่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง

ผลเสียของการใช้ยาเกินขนาดคืออะไร แน่นอนว่าอวัยวะที่ต้องรับบทหนักย่อมหนีไม่พ้น ‘ตับ’ หากใช้ยาในปริมาณสูงอาจเกิดภาวะเป็นพิษต่อตับ เช่น รับประทานยาต่อเนื่องทุก 2-3 ชั่วโมง หรือใน 1 วันรวมแล้วเกิน 8 เม็ด ซึ่งเกินกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องการ แล้วในที่สุดตับก็จะถูกทำลาย

ข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งสำหรับการคำนวณปริมาณการใช้ยา นพ.พิสนธิ์ ระบุว่า เรื่องของน้ำหนักตัวของแต่ละคนก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการบริโภคยาโดยตรง กฎเบื้องต้นของยาทุกชนิดคือ หากน้ำหนักตัวน้อยไม่ควรใช้ยามาก ดังเห็นได้ว่าการสั่งจ่ายยาให้เด็กเล็กจะต้องมีการชั่งน้ำหนักก่อนเพื่อคำนวณปริมาณที่เหมาะสม โดยมีหลักการว่า พาราเซตามอล 10-15 มิลลิกรัม จะเหมาะสำหรับน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม ต่อการใช้ยา 1 ครั้ง ฉะนั้นเด็กที่มีน้ำหนักตัว 12 กิโลกรัม จึงคำนวณออกมาได้ว่าต้องใช้ยาประมาณ 1 ช้อนชา เป็นต้น

“เรื่องของภาชนะที่ใช้รับประทานยาก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางครั้งยา 1 ช้อนชาในแต่ละยี่ห้อก็มีขนาดไม่เท่ากัน ข้อนี้ประชาชนต้องสังเกตให้ดี ดูได้จากฉลากข้างกล่องและขวด บางยี่ห้อมี 125 กรัม บางยี่ห้อก็มี 250 กรัม หากป้อนยาไปโดยไม่ดูฉลากก็อาจผิดขนาดได้”

เช่นเดียวกัน แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ต้องให้ความสำคัญต่อขนาดการใช้ยา เช่น ผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัม เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่า ต้องรับประทานยาพาราเซตามอลได้ครั้งละ 500 มิลลิกรัม หรือ 1 เม็ด หรือ 1 เม็ดครึ่งเท่านั้น ส่วนผู้ที่จะรับประทานได้ถึง 2 เม็ด จะต้องมีน้ำหนักตัวมากกว่า 67 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการของโรคว่ารุนแรงแค่ไหน

“ประชาชนที่รับประทานยาแล้วไม่ใส่ใจเรื่องขนาดยา จนทำให้บริโภคยามากเกินไปจะเกิดผลต่อตับ ซึ่งไม่ควรรอให้เกิดอาการ เพราะถ้าเกิดอาการแล้ว แปลว่าตับถูกทำลายไปมากแล้ว การแก้ไขแทบจะทำไม่ได้เลย เมื่อตับถูกทำลายจะเหมือนว่าเป็นโรคตับอักเสบที่เรารู้จักกันดี เช่น ไวรัสตับอักเสบ ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเปลี่ยนสี ออกเหลืองๆ เข้มๆ อ่อนเพลีย เป็นไข้ และในที่สุดอาจเสียชีวิตได้”

นอกเหนือจากการใช้ยาพาราเซตามอลที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ยังมียาอีกชนิดที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกันคือ ‘ยาแอสไพริน’ ซึ่งสามารถช่วยลดไข้บรรเทาปวดได้เช่นเดียวกัน แต่จะมีสรรพคุณที่เพิ่มขึ้นมาคือ ช่วยลดการอักเสบซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของไข้และอาการปวด ด้วยสรรพคุณที่มากกว่า สิ่งที่ต้องยอมรับตามมาก็คือ ยาแอสไพรินนั้นมีความ ‘เสี่ยง’ สูงกว่าพาราเซตามอล ความเสี่ยงที่ว่านั้น ได้แก่ การเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร การเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ปัญหาเลือดหยุดไหลยากเมื่อเกิดแผล ดังนั้นในภาวะปกติจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้ใช้ยานี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

label-1

อย่ามองข้ามข้อมูลบนซองยา

แม้วันนี้ยาพาราเซตามอลจะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใครๆ ก็ใช้กัน เพราะผลข้างเคียงของพาราเซตามอลมีไม่มาก โดยมากมักไม่รุนแรง อาจเพียงแค่มีอาการระคาย ไม่สบายท้อง แต่ไม่รุนแรงเท่าแอสไพริน จึงถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงพอสมควร แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป กำลังพยายามรณรงค์ที่จะลดอัตราการใช้ยาพาราเซตามอล โดยเฉพาะการใช้ยาเกินขนาด

ปัจจุบันคนไทยใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือยและใช้ผิดประเภท กลายเป็นปัญหาในวงการสาธารณสุข ทั้งเรื่องยอดค่าใช้จ่าย ยาขาด ยาเกิน ยาล้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกจุดหนึ่งคือ ประชาชนจำนวนไม่น้อยมักไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลบน ‘ซองยา’ สาเหตุหนึ่งเพราะไว้ใจแพทย์หรือเภสัชกรมากเกินไป

ซองยาที่คนไข้ได้รับจากแพทย์เป็นสิ่งที่แรกที่ต้องอ่านก่อนรับประทาน แต่ที่ผ่านมาเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2556 วงการสาธารณสุขไทยก็เคยได้รับบทเรียนจากระบบการบรรจุ ‘ยาผิดซอง’ มาแล้ว

ความบกพร่องครั้งนั้นเนื่องจากมีการบรรจุยารักษาโรคหัวใจ ปะปนลงในซองยาสำหรับรักษาโรคความดันโลหิต เป็นเหตุให้ต้องมีการเรียกยาคืน 2,565 เม็ด จากการผลิตทั้งหมด 660,000 เม็ด โดยคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้มีมติปิดปรับปรุงระบบการผลิตยาทั้งหมด 240 รายการ เป็นเวลา 6 วัน ส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมเสียหายมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

ความผิดพลาดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยควรทำเพื่อป้องกันตัวเองก่อนที่จะกลืนยาเข้าปากก็คือ ต้องอ่านข้อมูลบนซองยาให้รอบคอบถี่ถ้วน

ภก.เด่นชัย ดอกพอง เครือข่ายเภสัช-ทันตบุคลากร เพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้วข้อมูลบนซองยาจะเป็นหลักประกันในการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งจะประกอบไปด้วยรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

ส่วนแรกคือ ชื่อสถานบริการ ไม่ว่าจะเป็นคลินิก โรงพยาบาล หรือร้านขายยา

ส่วนที่สอง ชื่อยา ซึ่งจะเป็นชื่อสามัญทางยา ไม่ใช่ชื่อทางการค้า เพราะตัวยาชนิดเดียวกันสามารถมีชื่อทางการค้าได้หลายชื่อ

ส่วนที่สาม ข้อบ่งใช้ เพื่อระบุว่ายาชนิดนั้นมีสรรพคุณในการรักษาอย่างไร

ส่วนที่สี่ ขนาดและวิธีใช้ เพื่อบอกปริมาณการใช้ยาอย่างมีประสิทธิผล

ส่วนที่ห้า ผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยา

ส่วนที่หก ข้อควรระมัดระวังของผู้ใช้ยา หรือระหว่างการใช้ยานั้นควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น

paracetamol-2

การอ่านข้อมูลบนซองยาก่อนรับประทาน จึงเป็นหลักปฏิบัติเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตัวผู้ป่วยเอง ภก.เด่นชัย ระบุว่า นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสังเกตลักษณะของภาชนะบรรจุยาที่มีทั้งแบบขวดแก้ว ขวดใส ขวดสีชา หรือซองขุ่น  ซึ่งจะช่วยบ่งบอกประเภทของยานั้นๆ ได้ เช่น ขวดทึบ ขวดสีชา หรือซองยาสีน้ำตาลเข้ม จะเป็นภาชนะสำหรับป้องกันแสงแดดเพื่อไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ ฉะนั้นถ้ารู้จักสังเกตลักษณะของภาชนะก็จะช่วยให้เราสามารถใช้ยาและดูแลรักษายาได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือ การสังเกตวันหมดอายุของยา ตัวอย่างเช่น หากเป็นกระปุกยาพาราเซตามอลที่ปิดสนิท จะต้องมีการระบุวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ ซึ่งยาเม็ดโดยทั่วไปจะมีอายุ 5 ปีนับจากวันผลิต แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีการแบ่งออกมาบรรจุในซองยา โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดวันหมออายุไม่เกิน 1 ปี เพราะจะมีผลต่อการเสื่อมสภาพหรือการออกฤทธิ์ของยา

อย่างไรก็ดี บางครั้งเราอาจพบว่า ข้อมูลบนซองยาที่ได้รับนั้นว่างเปล่า เพราะคลินิกหรือร้านขายยาไม่ได้เขียนชื่อยากำกับไว้ให้ ภก.เด่นชัย ชี้ว่า จากงานวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า สาเหตุที่คลินิกและร้านขายยาทั่วไปไม่เขียนชื่อยาบนซองยา มีข้อสรุปและเหตุผลดังนี

  1. กลัวคนไข้จะไปซื้อยากินเองหรือไปรับบริการที่อื่น
  2. เป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยคลินิกและร้านขายยามักจะจ่ายพ่วงยาบางชนิดที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อการรักษามากนัก เพื่อเพิ่มรายได้และยอดขาย เช่น การจ่ายวิตามินเพิ่มเติม ทำให้ยามีหลายรายการมากขึ้น และคิดค่ายาได้เพิ่มขึ้น
  3. คลินิกหรือร้านขายยาไม่มั่นใจว่าจ่ายยาถูกต้องหรือเหมาะสมกับโรคหรือไม่ และหวั่นเกรงว่าหากจ่ายยาไม่ถูกต้องจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ
  4. บุคลากรที่ไม่ใช่เภสัชกรตัวจริงเป็นผู้จ่ายยาให้กับคนไข้ ทำให้ไม่มีความรู้ที่จะให้ข้อมูลชื่อยา คำแนะนำ และข้อควรระวังแก่คนไข้

ดังนั้นการที่คลินิกหรือร้านขายยาไม่ระบุชื่อยาบนซองก็เพื่อตัดปัญหาไม่ให้คนไข้นำข้อมูลไปสอบถามโรงพยาบาลหรือสถานบริการอื่น

“การไม่ให้ข้อมูลยาที่เพียงพอ โดยเฉพาะชื่อยาซึ่งเป็นตัวหลัก เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยที่สภาวิชาชีพได้ทำการรับรองตามกฎหมาย ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ”

สำหรับผู้บริโภคเองหากพบเห็นพฤติกรรมเช่นนี้สามารถแจ้งไปยังแพทยสภาหรือสภาเภสัชกรรมได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงคลินิกหรือร้านขายยาประเภทนี้ และที่สำคัญที่สุด พึงอ่านฉลากบนซองยาด้วยความระมัดระวังเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง

Posted in บทความTagged พาราเซตามอล

Post navigation

ยาสำหรับรักษาสิว
ยาหมดอายุ ดูยังไง? ทานแล้วเป็นอันตรายหรือไม่?

Leave a Reply Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

dg gaming
ดูหนังใหม่ชนโรง
Copyright © 2019 via1sideffects.com ดูซีรี่ย์จีน
  • หน้าหลัก
  • ยาสามัญประจำบ้าน
    ▼
    • 3 คุณสมบัติ ตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • สถานที่ตั้งตู้ยาสามัญประจำบ้าน
    • ยาสามัญประจำบ้าน ทั้ง 16 กลุ่ม
  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
    ▼
    • วิธีปฐมพยาบาล เมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
    • วิธีแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
  • วิธีการใช้ยา
    ▼
    • วิธีใช้ยา เมื่อมีอาการน้ำมูกไหล
    • วิธีใช้ยาเมื่ออาการ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดส่วนต่างๆ
  • บทความ
  • เกี่ยวกับ
  • ติดต่อ