
ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา
ยาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำบัด รักษา บรรเทาอาการ หรือใช้ป้องกันโรค ซึ่งยาแต่ละชนิดก็มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ยาทา ยาฉีด ยากิน เป็นต้น หากเราใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ถ้าหากใช้ยาไม่ถูกขนาด อาจทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา หรือ อาจทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ และยังทำให้สุขภาพของผู้ใช้ทรุดโทรมอีกด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา ทั้งในเรื่องของการใช้ยาที่ถูกต้อง รู้จักวิธีการเก็บรักษายาไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว และรู้จักสังเกตว่ายานั้นเสื่อมสภาพหรือยัง
หลักการใช้ยา
ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาของคนไทย ยังมีการใช้ที่ผิดๆ จะโดยการไม่ระมัดระวัง หรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เกิดพิษเนื่องจากได้รับยาเกินขนาด หรือเกิดอาการแพ้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย เราจึงควรใช้ยาให้ถูกหลักการใช้ยา ดังนี้
1. ใช้ให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น ซึ่งจะเลือกใช้ยาตัวใดในการรักษานั้น ควรจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นคนจัดให้ เราไม่ควรซื้อยาหรือใช้ยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น หรือหลงเชื่อคำโฆษณา เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรคอาจทำให้ได้รับอันตรายจากยานั้นได้ หรือไม่ได้ผลในการรักษา และยังอาจเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ มีประชาชนส่วนหนึ่งชอบใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือไม่ถูกกับอาการเจ็บป่วย เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่โรคที่เป็นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย ซึ่งทำให้เชื้อโรค เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ในภายหลัง การใช้วิตามินขนาดสูงเป็นประจำด้วยคิดว่าจะบำรุงร่างกาย ให้แข็งแรงโดยไม่ต้องรับประทานอาหารให้ถูกส่วนหรือออกกำลังให้พอเหมาะ
2. ใช้ยาให้ถูกกับคน คือ ต้องดูให้ละเอียดก่อนใช้ว่า ยาชนิดใดใช้กับใคร เพศใด และ อายุเท่าใดเพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของคนแต่ละเพศ แต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เช่น เด็กจะมีอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อได้รับยาเด็กจะตอบสนองต่อยาเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก และสตรีมีครรภ์ก็ต้องคำนึงถึงทารกในครรภ์ด้วย เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านจากแม่ไปสู่เด็กได้ทางรก อาจมีผลทำให้เด็กที่คลอดออกมาพิการได้ นอกจากนี้การใช้ยาในสตรีที่ให้นมบุตรต้องระมัดระวังเช่นกันเพราะยาอาจถูกขับทางน้ำนม ทำให้มีผลต่อทารกได้ เช่น ยาสตรี ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ดังกล่าวอาจมีผลต่อทารกที่ดูดนมแม่ได้ การใช้ยาในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้การใช้ยาในผู้สูงอายุก็ต้องระมัดระวังเช่นกับเพราะการทำลายยาโดยตับและไตของผู้สูงอายุอาจทำได้ช้ากว่าในคนหนุ่มสาว สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไต ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งก่อนที่จะได้รับยา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจ่ายยาให้เหมาะสม
3. ใช้ยาให้ถูกเวลา คือ ช่วงเวลาในการรับประทานยาหรือการนำยาเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น หยอด เหน็บ ทา ฉีด เป็นต้น เพื่อให้ยาในกระแสเลือดมีปริมาณเหมาะสมในการบำบัดรักษา ไม่มากเกินไปจนเกิดพิษและไม่น้อยเกินไปจนไม่สามารถรักษาโรคได้
ซึ่งการใช้ยาให้ถูกเวลาควรปฏิบัติดังนี้
การรับประทานยาก่อนอาหาร
ยาที่กำหนดให้รับประทานก่อนอาหาร ต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าวก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ตัวอย่างยาที่จำเป็นต้องรับประทานก่อนอาหาร เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) และเตตร้าซัยคลิน (Tetracycline) เป็นต้น
การรับประทานยาหลังอาหาร
ยาที่กำหนดให้รับประทานหลังอาหาร โดยทั่วไป จะให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 – 30 นาที
การรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือพร้อมอาหาร
ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่รับประทานอาหารก็ได้ เพราะยาประเภทนี้จะระคายเคืองต่อกระเพาะมาก หากรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง อาจทำให้กระเพาะเป็นแผลได้ เช่น ยาแอสไพริน(Aspirin) และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)เป็นต้น
การรับประทานยาก่อนนอน
ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam)
การรับประทานยาเมื่อมีอาการ
ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และยาลดไข้ แก้ปวด ตัวอย่างเช่นยาพาราเซตามอล (Paracetamal)ใช้ลดไข้แก้ปวด ให้รับประทานทุก 4 หรือ 6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้ง การรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะทำให้เป็นพิษต่อตับได้ และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
4. ใช้ยาให้ถูกขนาด คือการใช้ยารักษาโรคจะต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป ควรรับประทานให้ถูกขนาดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ จึงจะให้ผลดีในการรักษา เช่น ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก็ควรรับประทานตามนี้ ไม่ควรรับประทาน 2 เม็ด หรือเพิ่มเป็นวันละ 4-5 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาในแต่ละคนก็แตกต่างกันโดยเฉพาะเด็ก จะมีขนาดการใช้ที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ให้ใช้อุปกรณ์ มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ในทารกต้องใช้ยาปริมาณน้อยๆ มักเป็นยาน้ำที่ใช้หลอดหยดที่มักให้มาพร้อมกับยา โดยจะต้องอ่านขนาดการใช้ยาที่ระบุบนฉลากให้ถี่ถ้วน หากเป็นเด็กเล็กให้ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ไม่ใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง สำหรับขนาดมาตรฐานในการตวงยาคือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร
5. ใช้ยาให้ถูกวิธี เนื่องจากการจะนำยาเข้าสู่ร่างกายมีหลายวิธี เช่น การกิน การฉีด การทา การหยอด การเหน็บ เป็นต้น ซึ่งการจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตัวยานั้นๆ ดังนั้นก่อนใช้ยาจึงจำเป็นต้องอ่านฉลากและศึกษาวิธีการใช้ให้ละเอียดทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
– การใช้ยาที่ใช้ภายนอก ยาที่ใช้ภายนอกได้แก่ ขี้ผึ้ง ครีม ยาผง ยาเหน็บ ยาหยอด มีข้อดีคือยาจะมีผลเฉพาะบริเวณที่ให้ยาเท่านั้นและมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงไม่ค่อยมีผลอื่นต่อระบบในร่างกาย ข้อเสียคือ ใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณพื้นผิวร่างกายเท่านั้น และฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นาน โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
ยาใช้ทา ให้ทาเพียงบาง ๆ เฉพาะบริเวณที่เป็นโรค หรือบริเวณที่มีอาการ ระวังอย่าให้ยาถูกน้ำล้างออกหรือถูกเสื้อผ้าเช็ดออก
ยาใช้ถูนวด ก็ให้ทาและถูบริเวณที่มีอาการเบา ๆ
ยาใช้โรย ก่อนที่จะโรยยาควรทำความสะอาดแผล และเช็ดบริเวณที่จะโรยให้แห้งเสียก่อน ไม่ควรโรยยาที่แผลสด หรือแผลมีน้ำเหลือง เพราะผงยาจะเกาะกันแข็งและปิดแผล อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคภายในแผลได้
ยาใช้หยอด จะมีทั้งยาหยอดตา หยอดหู หยอดจมูกหรือพ่นจมูก
– ยาหยอดตา มีวิธีปฏิบัติดังนี้ ล้างมือให้สะอาด ดึงเปลือกตาล่างออกให้เป็นกระเปาะโดยนอนหรือเอียงศีรษะไปด้านหลัง มองขึ้นเพดาน แล้วหยอดยาลงในเปลือกตาล่างตามจำนวนที่กำหนดไว้ในฉลาก ระวังไม่ให้หลอดยาหยอดตาสัมผัสกับตาหรือปลายนิ้วมือ ปล่อยเปลือกตาล่าง พยายามอย่าปิดตา และกระพริบตาอย่างน้อย 30 วินาที แล้วกดที่หัวตาทั้ง 2 ข้างเบาๆ 1 นาที เพื่อป้องกันการไหล ของยาจากบริเวณที่ต้องการ กรณีหยอดยาทั้ง 2 ข้าง ควรหยอดตาข้างหนึ่งและเว้นอย่างน้อย 5 นาที แล้วจึงหยอดตาอีกข้างหนึ่ง ถ้าหากต้องหยอดยาตา 2 ชนิดขึ้นไปในคราวเดียวกัน ควรทิ้งระยะห่างประมาณ 10 นาที จึงหยอดยาชนิดต่อไป ยาหยอดตาเมื่อเปิดใช้แล้วให้เก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องน้ำแข็ง ยกเว้นยาหยอดตาบางชนิดเช่นยาหยอดตาซัลฟาเซตาไมด์ (Sulfacetamide) จะห้ามเก็บในตู้เย็น ยาหยอดตา เมื่อเปิดใช้แล้วจะเสื่อมคุณภาพไปตามวันเวลา จะมีฤทธิ์เต็มที่ภายใน 1 เดือนหลังจากที่เปิดใช้ครั้งแรกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาหยอดตาหลังเปิดใช้แล้ว 1 เดือน แม้ว่ายาจะยังไม่หมดอายุตามที่ระบุไว้บนฉลากก็ตาม นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจติดโรคกันได้ – ยาหยอดจมูก ถ้ามีน้ำมูกให้สั่งออกอย่างเบาๆ นั่งเงยหน้า หรือนอนหงายบนเตียง ใช้หมอนหนุนคอให้หงายหน้าออกเล็กน้อย สอดหลอดสำหรับหยดยา เข้าไปในส่วนบนของ รูจมูกเล็กน้อย ให้แตะชิดผนังด้านในข้างสันจมูก แล้วค่อยๆหยดยา ประมาณ 1-2 หยด ยกศีรษะให้ตรง ใช้นิ้วคลึงเบาๆที่จมูกเพื่อให้ยาแพร่กระจายทั่วถึง สำหรับยาพ่นจมูกก็มีวิธีคล้ายกัน แต่เมื่อสอดปลายท่อสำหรับพ่นยาเข้าในรูจมูก ให้ใช้นิ้วปิดรูจมูกอีกข้างไว้ จากนั้นปิดปาก แล้วหายใจเข้าแล้วกดยาพ่นเข้าไปในรูจมูก กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ แล้วหายใจตามปกติ ไม่ควรหยอดจมูกหรือพ่นจมูกด้วยยานานเกิน 3 วัน และห้ามใช้ร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจติดเชื้อกันได้
– ยาหยอดหู วิธีใช้ให้ล้างมือให้สะอาด เขย่าขวดก่อนใช้ แล้วนอนหรือนั่งตะแคง เพื่อให้หูข้างที่จะหยอดยาหันขึ้นด้านบน หยอดยาลงในรูหูตามจำนวนหยดที่ระบุในฉลากยา หรือตามที่แพทย์สั่ง ระวังอย่าให้ปลายหลอดแตะถูกหู แล้วนอนหรือนั่งอยู่ในท่าเดิม ประมาณ 5 นาที ถ้ายาไหลออกจากหู ให้ใช้สำลีซับ ถ้ากรณีที่หูมีน้ำหนวก ก่อนใช้ยาหยอดหู ควรใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดน้ำหนวกออกอย่างเบาๆ เมื่อเปิดใช้ยาหยอดหูแล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน ห้ามใช้ยาหยอดหูร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจติดเชื้อกันได้
ยาใช้เหน็บ ยาที่ใช้เหน็บทวารหนัก หรือช่องคลอดมักเป็นแท่ง คล้ายขี้ผึ้ง ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เวลาใช้ให้แกะที่หุ้มออกแล้วจุ่มน้ำพอลื่นก่อนสอด ควรสอดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้
ยาใช้ป้าย ยาที่ใช้สำหรับป้าย ถ้าเป็นขี้ผึ้งป้ายตา เมื่อป้ายแล้ว ให้ปิดเปลือกตาลง ใช้นิ้วสะอาดคลึงหนังตาเบา ๆ ถ้าเป็นยาป้ายลิ้น ให้ใช้สำลีชุบยาเช็ดบริเวณที่ต้องการ
การใช้ยาที่ใช้ภายใน ยาที่ใช้ภายในคือยาที่ใช้รับประทาน ได้แก่ ยาเม็ดยาผง ยาน้ำ การให้ยาโดยการรับประทานมีข้อดี คือ สะดวก ปลอดภัย และใช้ได้กับยาส่วนใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ ยาจะต้องผ่านทางเดินอาหาร และดูดซึมผ่านผนังกระเพาะ และลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด จึงออกฤทธิ์ได้ช้าและปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดอาจแตกต่างกันตามสภาพการดูดซึม โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
ยาเม็ด ที่ให้เคี้ยวก่อนรับประทาน ได้แก่ ยาลดกรดและยาขับลมชนิดเม็ดทั้งนี้เพื่อให้เม็ดยาแตกเป็นชิ้นเล็ก จะ ได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น ยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ได้แก่ ยาชนิดที่เคลือบน้ำตาล และชนิดที่เคลือบฟิล์มบาง ๆ จับดูจะรู้สึกลื่น ยาดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ต้องการให้ยาเม็ดค่อยๆละลายทีละน้อย
ยาแคปซูล เป็นยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย มีทั้งชนิดอ่อน และชนิดแข็ง ซึ่งชนิดแข็งจะประกอบด้วยปลอก 2 ข้างสวมกัน ยาแคปซูลมีข้อดีคือรับประทานง่าย เพราะกลบรสและกลิ่นของยาได้ดี
ยาผง มีอยู่หลายชนิด และใช้แตกต่างกัน เช่น ตวงใส่ช้อนรับประทานแล้วดื่มน้ำตาม หรือชนิดตวงมาละลายน้ำก่อน และยาผงที่ต้องละลายน้ำในขวดให้ได้ปริมาตรที่กำหนดไว้ก่อนที่จะใช้รับประทาน เช่นยาปฏิชีวนะชนิดผงสำหรับเด็ก โดยน้ำที่นำมาผสมต้องเป็นน้ำดื่มที่ต้มสุกและทิ้งให้เย็น ต้องเก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็งและหากใช้ไม่หมดใน 7 วันหลังจากที่ผสมน้ำแล้วให้ทิ้งเสีย
ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) เช่น ยาลดกรดต้องเขย่าขวดให้ผงยาที่ตกตะกอนกระจายเป็นเนื้อเดียวกัน จึงรินยารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วตะกอนยังไม่กระจายตัว แสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
ยาน้ำใส เช่น ยาน้ำเชื่อม ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ถ้าเกิดผลึกขึ้น หรือเขย่าแล้วไม่ละลาย ไม่ควรนำมารับประทาน
ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) เช่น น้ำมันตับปลา ยาอาจจะแยกออกให้เห็นเป็นของเหลว 2 ชั้น เวลาจะใช้ให้เขย่าจนของเหลวเป็นชั้นเดียวกันก่อน จึงรินมารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วยาไม่รวมตัวกันแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
การเก็บรักษายา
เมื่อเราทราบถึงวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องแล้ว ก็ควรรู้ถึงวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้ยามีคุณภาพในการรักษา ไม่เสื่อมคุณภาพเร็ว โดยมีวิธีการเก็บรักษา ดังนี้
1. ตู้ยาควรตั้งอยู่ในที่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ควรตั้งให้พ้นจากมือเด็ก โดยอยู่ในระดับที่เด็กไม่สามารถหยิบถึง เพราะยาบางชนิดมีสีสวย เช่นยาบำรุงเลือดที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบซึ่งมีลักษณะเป็นยาเม็ดเคลือบน้ำตาลสีแดง ซึ่งเด็กอาจนึกว่าเป็นขนม แล้วนำมารับประทานจะก่อให้เกิดอันตรายได้
2.ไม่ตั้งตู้ยาในที่ชื้น ควรตั้งอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรเก็บยาให้ห่างจากห้องครัว ห้องน้ำ และต้นไม้
3. ควรจัดตู้ยาให้เป็นระเบียบ โดยแยก ยาใช้ภายนอก ยาใช้ภายใน และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยิบยาผิด
ยาใช้ภายใน ให้ใส่ขวดสีชามีฝาปิดสนิท เขียนฉลากว่า “ยารับประทาน” โดยใช้ฉลากสีน้ำเงิน หรือตัวอักษรสีน้ำเงิน หรือสีดำ พร้อมกับระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาด และวิธีรับประทาน ติดไว้ให้เรียบร้อย ถ้าเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ที่ฉลากจะต้องมี คำว่า “เขย่าขวดก่อนใช้ยา”
ยาใช้ภายนอก ให้ติดฉลากสีแดง มีข้อความว่า “ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน” ในฉลากต้องระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาดและวิธีใช้ให้เรียบร้อย
4. เก็บรักษายาไม่ให้ถูกแสงสว่าง เพราะยาบางชนิดหากถูกแสงแดด จะเสื่อมคุณภาพ จึงต้องเก็บในขวดทึบแสง มักเป็นขวดสีชา เช่น ยาหยอดตา ยาวิตามิน ยาปฏิชีวนะ และ ยาแอดรีนาลิน ที่สำคัญควรเก็บยาตามที่ฉลากกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด แต่ถ้าฉลากไม่ได้บ่งไว้ ก็เป็นที่เข้าใจว่า ให้เก็บในที่ซึ่งป้องกันความชื้นได้ดี ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินไป หรือไม่นำยาไปแช่แข็ง การเก็บรักษายาที่ถูกต้อง ย่อมได้ยาที่มีประสิทธิภาพ และยาก็ไม่เสื่อมคุณภาพเร็ว ซึ่งจะให้ผลในการรักษาเต็มที่
วิธีสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ
ยาเสื่อมคุณภาพ เป็นยาที่เปลี่ยนสภาพไป ทำให้ไม่ให้ผลในการรักษาหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ การเปลี่ยนสภาพของยาอาจเปลี่ยนจากลักษณะภายนอก ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัด หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของตัวยา ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การเสื่อมสภาพของยาที่เราพบกันบ่อย ๆ เช่น
ยาน้ำ จะมีการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือมีตะกอนผิดไปจากเดิม รายละเอียดดังที่กล่าวมาแล้ว
ยาหยอดตา จะมีลักษณะขุ่น หรือตกตะกอนของตัวยา เปลี่ยนสี
ยาเม็ด จะมีลักษณะเยิ้มเม็ดแตก ชื้น บิ่น แตก เปลี่ยนสี
ยาแคปซูล จะมีลักษณะแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีของยาที่อยู่ภายในแคปซูลเปลี่ยนไปหรือมีสีเข้มขึ้น
ยาขี้ผึ้ง ยาครีม จะมีลักษณะเนื้อยาเยิ้มเหลว แยกชั้น กลิ่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม
สำหรับยาแผนปัจจุบันทุกชนิด กฎหมายกำหนดให้ระบุวันสิ้นอายุไว้ในฉลาก โดยผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้าในราชอาณาจักร ต้องแสดง วัน เดือน ปีที่ยาสิ้นอายุไว้ในฉลาก
สำหรับยาแผนโบราณ หากเป็นยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ต้องระบุ วันสิ้นอายุของยาดังกล่าวด้วย โดยยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้านที่เป็นยาน้ำจะมีอายุการใช้ 2 ปีนับจากวันที่ผลิต หากอยู่ในรูปอื่นที่มิใช่ยาน้ำจะมีอายุการใช้ 3 ปีนับจากวันที่ผลิต ส่วนยาแผนโบราณที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ฉลากยาจะต้องระบุวันที่ผลิต แต่จะกำหนด วันหมดอายุหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากยาแผนโบราณส่วนใหญ่ได้จากสมุนไพรมักมีการสลายตัวง่าย จึงควรเลือกที่ผลิตมาใหม่ๆ
ทั้งนี้ยาทุกชนิด หากการเก็บรักษายาไม่ถูกต้องอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพก่อนวันที่กำหนดไว้ได้
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการใช้ยาให้ถูกต้องนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่ใช้ให้ถูกต้องโดยอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาให้เข้าใจ และใช้ตามหลักการใช้ยาคือ ถูกกับโรคที่เป็น ถูกวิธี ถูกเวลา และถูกขนาด การใช้ยานั้นก็จะไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากการใช้ยาให้ถูกต้องแล้ว การเก็บรักษายาก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน คือต้องเก็บยาให้ถูกที่ ไม่ถูกแสงแดด และไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินไปก็จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ยาที่ดีมีคุณภาพให้ผลเต็มที่ในการรักษาโรค ทั้งนี้การเลือกซื้อยาก็สำคัญไม่ซื้อยาตามคำชักชวนหรือโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล การซื้อยาชุด ยาที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยาซื้อยาจากสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้านขายของชำ รถเร่ขายยา แผงข้างทาง หรือตามวัดต่างๆ หากพบการขายยาที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วนผู้บริโภคกับ อย. 1556 กด 0 หรือแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด